นัตพม่า

นัตพม่า
Myanmar Nat
“นัต” มาจากคำว่า นาถ ในภาษาบาลี หมายถึง ผู้เป็นที่พึ่งสร้างจากวัสดุหลายประเภทแกะสลักจากไม้หรือปั้นเป็นรูปลักษณะต่างๆ

“นัต” มาจากคำว่า นาถ ในภาษาบาลี หมายถึง ผู้เป็นที่พึ่ง นัตสร้างได้จากวัสดุหลายประเภทอาจแกะสลักจากไม้หรือปั้นเป็นรูปลักษณะต่างๆ เช่น องค์เทพ เทวี ผู้เฒ่า หรือรูปยักษ์
นัตในความหมายของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของผู้ตายร้ายผู้เป็นที่พึ่งของคนทั่วไป มีฐานะกึ่งเทพกึ่งผี คือมีระดับสูงกว่าผีทั่วไปแต่ไม่เทียบเท่าเทวดา เป็นวิญญาณของมนุษย์ผู้ตายจากด้วยภัยอันร้ายแรง ผู้คนให้ความเคารพบูชา และมีพิธีเข้าทรงลงผี ด้วยเชื่อกันว่านัตจะให้ความช่วยเหลือและคุ้มกันภัยในหมู่ผู้ศรัทธา กราบไหว้
การเข้าสู่สภาพนัตถูกบรรยายไว้ในหนังสือ โตงแซะคุนิจ์มีง หรือ นัต 37 ตน เขียนโดย อูโพจา ว่า “...เรื่องการกลายเป็นนัตนั้นจดจำและเชื่อกันว่าไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนเผ่าพันธุ์ใด กษัตริย์หรือสามัญชน มั่งมีหรือยากไร้ หญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ หากแต่เป็นผู้ที่คนทั่วไปยกย่อง ยึดเป็นที่พึ่งได้ และเป็นผู้ที่มีความเมตตา ยามตายก็จากไปอย่างน่าเวทนา เมื่อผู้คนทั่วไปรับรู้ จึงบังเกิดความสะเทือนใจ โจษจันกันไปทั่ว วิญญาณของผู้นั้นจึงกลายเป็นนัต...” ประกอบกับประวัติของนัตแต่ละตนส่วนใหญ่ตายผิดธรรมดา ด้วยเหตุร้าย เป็นการตายที่น่าเวทนา อาจเรียกได้ว่าตายโหง ซึ่งชาวเมียนมาเรียกว่า “นัตเซง” หรือ “นัตที่ตายร้าย” แตกต่างจากนัตที่เป็นเทพเทวาด้วยบุญญานุภาพ อย่างไรก็ตามใช่ว่าผีตายร้ายทุกตนจะต้องกลายเป็นนัตไปทั้งหมด นัตจะต้องมีตำนานที่สะเทือนใจนำมาเล่าลือสืบต่อกันในวงกว้าง เชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์ และเป็นที่พึ่งของผู้คน หากครบองค์ประกอบเหล่านี้จึงจะเรียกว่า “นัต”
ในอดีตการนับถือนัตกำหนดโดยคติความเชื่อและประเพณีที่กำหนดโดยท้องถิ่น ชุมชน หรือครอบครัว แต่ปัจจุบันชาวเมียนมาส่วนใหญ่มักจะนับถือนัตตามความนิยมศรัทธาส่วนบุคคล เพื่อช่วยปัดเป่าปัญหาเฉพาะตนและเฉพาะกรณี อาทิ นัตนังกะไร่ ซึ่งเชื่อกันว่าบูชาแล้วจะให้คุณด้านการค้าขาย รูปปั้นของนางจะเป็นผู้หญิงสวมหัวกระบือบนศีรษะ นัตนังกะไร่ หรือพะโคแมด่อมีต้นเรื่องกำเนิดมาจากเมืองพะโค (หงสาวดี) และถึงแม้นัตองค์นี้จะไม่ได้เป็น 1 ใน 37 นัตหลักของเมียนมา แต่นัตองค์นี้ก็ถือว่าได้รับความนิยมจากชาวเมียนมาอยู่ไม่น้อย
พงศกร เบ็ญจขันธ์. 2549. “ตำนานการกำเนิดเทพนัตของชาวพม่า” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
www.gotoknow.org/posts/15548 สืบค้น 2 กรกฎาคม 2556.
ตำนานนัตนังกะไร่ หรือ พะโคแมด่อ
“...นางกระไร่เป็นกระบือที่เก็บเจ้าชายองค์หนึ่งมาเลี้ยงเพราะครอบครัวของเจ้าชายหายไประหว่างสงคราม ครั้นเมื่อเจ้าชายโตเป็นหนุ่ม เจ้าชายได้กลับไปทวงราชบัลลังก์คืน และเมื่อได้ครองบัลลังก์ก็ไม่ได้กลับไปหานางกระไร่แม่บุญธรรมอีกเลย ทำให้นางกระไร่คิดถึงและต้องการพบหน้าลูกของตน เป็นอย่างมาก จึงเที่ยววิ่งไล่ตามหาและอาละวาดผู้คนจนเป็นที่โจษจันไปทั่ว เมื่อเจ้าชายได้ยินเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ได้มีคำสั่งให้ไปปราบแม่บุญธรรมของตน โดยเจ้าชายไม่กล้าบอกใครๆ ว่าตนเป็นลูกบุญธรรมของแม่ควาย และเมื่อตัดใจฆ่านางด้วยลูกธนูแล้วก็รู้สึกผิดและละอายใจมาตลอด เจ้าชายได้จัดพิธีศพให้นางกระไร่อย่างใหญ่โต ต่อมาเมื่อประชาชนรู้เรื่องเข้าก็กลายเป็นที่กล่าวขวัญและศรัทธาต่อแม่ควาย ส่วนแม่ควายก็กลายเป็นนัตนางกระไร่หรือพะโคแมด่อ...”
ไทย - พม่า : เพราะแผ่นดินเราติดกัน. 2560. “ตำนานนัตนางกะไรหรือพะโคแมด่อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
www.facebook.com/thailand.and.myanmar/photos/a.253939628129320.1073741828.253855161471100/612208678969078/ สืบค้น 9 มกราคม 2561.