เอกสารคลังภูมิปัญญาแห่งลุ่มน้ำโขง

เอกสารคลังภูมิปัญญาแห่งลุ่มน้ำโขง
“เมื่อเราเห็นพับสา ใบลานปรากฏ ณ ที่ใด นั่นหมายถึง ลมหายใจแห่งอักษรและภาษาของกลุ่มคนในลุ่มน้ำโขงที่ยังคงสืบต่อ”
พับสา และใบลาน คือ วัตถุที่ใช้จดบันทึกเรื่องราวและภูมิปัญญาของคนในลุ่มน้ำโขงผ่านกลุ่มอักษรไทที่เรียกว่าอักษรธรรมล้านนา อักษรไทลื้อ ไทขึน และไทใหญ่
พับสา คือสมุดที่ทำจากเปลือกของไม้สา หรือปอกระสานิยมใช้เขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับคดีโลก เช่น โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ คาถาอาคม เป็นต้น ในพับสาหนึ่งๆ อาจไม่ได้เขียนเรื่องราวเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นการเฉพาะ มีลักษณะคล้ายการจดบันทึกหรืออนุทินของผู้เขียนแต่ละคน และบางครั้งพับสาบางฉบับที่มีการสืบทอดหรือส่งต่อกันมาก็มีจะพบว่ามีผู้เขียนหลายคน
ส่วนคัมภีร์ใบลานนั้น ทำจากใบลานที่ผ่านการคัดสรรและกรรมวิธีตั้งแต่ตัด ต้ม ตาก และใช้วิธีการจาร หรือใช้เหล็กเขียนลงบนใบลาน และจะนิยมใช้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับคดีธรรม เช่นธรรมบทต่างๆ ตำนาน ประวัติศาสตร์ เป็นต้น
ปัจจุบันในเขตล้านนาพบพับสาใบลานอยู่ตามวัดต่างๆ แต่ก็เหลือจำนวนน้อยเต็มที เนื่องจากไม่มีการเรียนการสอนและการใช้งานด้านอักษรธรรมล้านนาแล้ว จึงเป็นเพียงวัตถุที่เก็บไว้เท่านั้น หากจะมีใช้ ก็คงอยู่ในวงของผู้ที่เคยบวชเรียนมา ที่เรียกว่า พวกน้อยหนาน แต่สำหรับเมืองเชียงตุง ในเขตรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเลยไปจนถึงเมืองสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน ยังพบว่ามีการใช้พับสาและใบลานในการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ อยู่ แต่ก็นับว่าน้อยลงกว่าในอดีต ทั้งนี้เพราะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ และวัสดุใหม่ที่เรียกว่าสมุดฝรั่งเข้ามาแทนที่
ดังนั้น เมื่อเราเห็นพับสา ใบลาน ปรากฏ ณ ที่ใด นั่นหมายถึงลมหายใจแห่งอักษรและภาษาของ กลุ่มคนในลุ่มน้ำโขงที่ยังคงสืบต่อ