ปราสาทธรรมาสน์


ปราสาทธรรมาสน์
Buddhist Pulpit
“การร่วมแรงร่วมใจกันสร้างธรรมาสน์ขึ้นใหม่ทุกปี
เป็นกุศโลบายเพื่อแสดงถึงพลังความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
และความสามัคคีของชาวปลัง (ไตหลอย)”

ปราสาทธรรมาสน์ในจังหวัดเชียงรายและพะเยาที่สร้างขึ้นและใช้ในสมัยก่อนนั้น มักสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ของศาสนา ประเพณี ความเชื่อ และความเป็นอยู่ของกลุ่มชนอันแสดงถึงสภาวะจิตใจในความศรัทธาทางศาสนาของกลุ่มชนในเขตจังหวัดนั้นๆ ตอบสนองต่อกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่ง 

การกั้นม่านในการเทศน์มหาชาตินั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงกัณฑ์ที่พระเจ้ากรุงสัญชัยจัดปราสาทไปรับพระเวสสันดรคืนเมือง และเพื่อแสดงให้ได้รู้ว่าได้เริ่มพิธีการมหาชาติแล้ว โดยการจำลองธรรมาสน์เป็นปราสาทพระเวสสันดร ทั้งนี้เพื่อสะดวกและง่ายในการเก็บเมื่อหลังจากเลิกการเทศน์มหาชาติแล้ว


ทรงพันธ์ วรรณมาศ.  (2529).  ปราสาท-ธรรมาสน์ ในเขตจังหวัดเชียงรายและพะเยา.  ใน  สัมมนาล้านนาคดีศึกษา: 
ศิลปกรรม (1-5 กุมภาพันธ์ หน้า 41).  เชียงราย: วิทยาลัยครูเชียงราย.
ทรงพันธ์ วรรณมาศ อ้างแล้ว, 2529, หน้า 32. 

ปราสาทธรรมาสน์รูปช้างต่างปราสาทที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขงได้รับบริจาคเป็นศิลปะแบบปลัง   สำหรับพระสงฆ์นั่งแสดงธรรม ปราสาทธรรมาสน์ที่เห็นนี้เป็นหลังที่ผ่านการใช้งานจริงในพิธีเทศน์เวสันตระ (เวสสันดรชาดก) ระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2560 ณ วัดจันทาราม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และตามที่ถือปฏิบัติกันมาหลังจากใช้งานเสร็จแล้วจะนำธรรมาสน์ไปเผา ดังนั้นวัสดุที่ใช้ในการผลิตจึงเป็นวัสดุที่สามารถเผาไหม้ได้ทั้งหมด เช่น ไม้ไผ่ กระดาษ ผ้า เป็นต้น และจะร่วมกันสร้างธรรมาสน์ขึ้นใหม่ในปีต่อไป เป็นกุศโลบายเพื่อแสดงถึงพลังความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและความสามัคคีของชาวปลัง (ไตหลอย) ในชุมชน วัดจันทาราม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย 


กลุ่มชนปลัง ในประเทศไทยพบได้ที่อำเภอแม่จันและอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และที่รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ชาวปลัง (ไตหลอย) ในชุมชนวัดจันทาราม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อพยพมาจากหนองหลวงและบ้านน้ำยื้อ